วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

“อัคราไมนิ่ง”ขุมทองเปื้อนมลทิน !?


“อัคราไมนิ่ง”ขุมทองเปื้อนมลทิน !?





               เหมืองทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง วันนี้ยังเผชิญกับปัญหามากมาย แม้จะเปิดเดินเครื่องมาหลายปี

            นับเนื่องจากปี 2536 ที่บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด เครือ Kingsgate Consolidated NL สัญชาติออสเตรเลีย ได้อาชญาบัตรพิเศษ สำรวจหาแหล่งแร่ทองคำ จากสายแร่ที่พาดผ่านจากตอนบนของอีสาน จากเลยมาสู่รอยต่อเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก บริเวณเขาหม้อ เขาเจ็ดลูก มาจนถึงทุกวันนี้ ... ดูเหมือนขุมเหมืองทอง ยังไม่เคยร้างลาจากปัญหา

          โดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อวิถีชุมชนรอบข้าง ที่ยังไม่จางหาย 
เพราะ ประทานบัตร 14 แปลงแรก เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ ช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์ หรือ “เหมืองทองชาตรี” ที่ได้มาเมื่อปี 2536 “อัครา ไมนิ่ง” ต้องผจญกับชาวบ้านรอบเหมือง นับแต่เริ่มกว้านซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นจากชาวบ้าน

          ขณะที่เหมืองเฟส 2 ในนามเหมืองชาตรีเหนือ ในพื้นที่ประทานบัตรใหม่ ที่ได้ประทานบัตร ยุคที่ “สุวิทย์ คุณกิตติ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในพื้นที่ 9 แปลงใหม่ ที่คาดว่าจะมีหินแร่ทองคำ 17,155,701 ตัน(รวมส่วนต่อขยาย) ความสมบูรณ์ 1.7 กรัมต่อตัน คิดคำนวณเป็นโลหะทองคำจำนวน 966,568 ออนซ์ หรือปริมาณทองคำบริสุทธิ์ มีมากกว่าเฟสแรก เกือบ 3 เท่าตัว  ปมปัญหาเก่ายังคงตามหลอกหลอนไม่สิ้นสุด ทั้งยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว

          เมื่อผลตรวจร่างกายราษฎร 10 รายที่เข้ามาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลพิจิตร กรณีปัญหาผลกระทบจากการประกอบอาชีพเหมืองแร่ทองคำ ในช่วงปี 2552 เช่น ด.ช.ธนโชติ บุญธรรม อายุ 4 ปี อาการ มีแผลพุพอง แขน ขาและลำตัว ประวัติการสัมผัส ใช้น้ำประปาหมู่บ้านอาบน้ำและมีตุ่มคัน ,นายสังวาล อบเชย อายุ 85 ปี อาการ ตาขวาแดง มีขี้ตา ใช้น้ำประปาหมู่บ้านอาบน้ำ และชำระล้าง ,นางยุภา รัตนภักดี อายุ 46 ปี อาการ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยแขน ขา ประวัติการสัมผัส ใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ส่วนรายอื่นๆ ส่วนใหญ่มีแผลพุพอง ตุ่มคัน ฯลฯ

            ล่าสุดวันที่ 11 พ.ย. 2553 ตัวแทนชาวบ้านเขาหม้อ 44 รายในพื้นที่หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ตามคดีหมายเลขดำที่ 228/2553 เพื่อดำเนินคดีกับ 5 หน่วยงานรัฐ คือ รมว.อุตสาหกรรม , อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ,คณะกรรมการเหมืองแร่ ,อธิบดีกรมป่าไม้ และอบต.เขาเจ็ดลูก กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ชาวบ้านตำบลเขาเจ็ดลูกกว่า 100 คนได้รับผลกระทบ เจ็บป่วย จากการระเบิดภูเขาอย่างต่อเนื่อง น้ำดื่มไม่สามารถดื่มกินได้กว่า 2 ปี




               จึงขอให้ศาลปกครองพิษณุโลกมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตร เลขที่ 26917/15805 เลขที่ 26922/15805 เลขที่ 26921/15806 เลขที่ 26920/15807 เลขที่ 26923/15808 และขอให้ระงับการดำเนินการในเขตประทานบัตรทั้ง 5 แปลง ขอให้สั่งเพิกถอนการที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด เข้าทำประโยชน์ในฟื้นที่ป่า ตามหนังสือกรมป่าไม้ที่ ทส 1602.4/1396 ลงวันที่ 23 ม.ค.2551 และขอให้เพิกถอนมติสภา อบต.เขาเจ็ดลูก ลงวันที่ 3 มิ.ย.2548 ให้ระงับการดำเนินการใดๆในเขตพื้นที่ประทานบัตรทั้ง 5 ประทานบัตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว  พร้อมกับขอให้มีการเปิดการไต่สวนฉุกเฉินในเรื่องนี้

           แม้ว่าต่อมา ศาลปกครองฯ จะมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน แต่คำฟ้องของชาวบ้านเขาหม้อ ทั้ง 44 ราย ยังคงอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลอยู่  และ กลางเดือนธ.ค. 2553 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ลงพื้นที่ตรวจสอบเหมืองทองอัครา ชาตรีเหนือ (เฟส 2) นำมาซึ่งคำสั่งใน 3 ประเด็น คือ

  • 1.ให้บริษัทอัคราฯ หยุดดำเนินการทำเหมืองของเครื่องจักรที่ทำงานในเฟส 2 (ชาตรีเหนือ) ตั้งแต่เวลา 19.00 - 05.00 น.ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.2554 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการตรวจสอบตามข้อเท็จจริงอีกครั้ง
  • 2.ให้บริษัทฯ หยุดการทำเหมืองด้านทิศเหนือของโครงการตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.2554 เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทฯจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาเสียงดังของการเจาะ ระเบิด เครื่องจักรกลหนัก
  • 3.ให้บริษัทฯ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่สามารถกรองโลหะหนัก บริเวณบ่อประปาบาดาลของชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการทั้งหมด พร้อมทำการตรวจวัดคุณภาพของน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ม.ค.2554






            ชาวบ้านรอบเหมืองทอง มีทั้งพอใจและไม่พอใจ ที่มีการเปิดเหมืองทองใกล้บ้าน กลุ่มที่พอใจเพราะมีรายได้ มีงานทำ ฯลฯ ขณะที่ชาวบ้านที่คัดค้าน เพราะเกรงปัญหามลพิษตามมา

           อย่างไรก็ตาม วันที่ 28 ม.ค.2554 สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ตัวแทนชาวบ้าน ได้ทำหนังสือร้องเรียนส่งถึง รมว.อุตสาหกรรม อีกครั้ง โดยระบุว่า จากคำสั่งของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทั้ง 3 ข้อข้างต้นนั้นบริษัทฯ ยังมิได้แก้ไขในข้อใดเลย

           นอกจากนี้พวกเขายังเรียกร้องให้ดำเนินการเพิ่มในเรื่อง ทางสาธารณประโยชน์ ,การชดเชยความเจ็บป่วยของชาวบ้าน และขอให้ตรวจสุขภาพชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ,ปรับปรุงเรื่องน้ำทำการเกษตร ,ปัญหาฝุ่นละอองปนเปื้อนสารพิษ ,ขอคัดค้านการขยายโรงงานของบริษัท ,ห้ามไม่ให้มีการระเบิดในรัศมี 500 เมตรจากบ้านเรือนชาวบ้านรอบเขตประทานบัตร ,ห้ามทิ้งกากแร่-กองหิน ติดกับชุมชนในระยะ 2 กม.

           รวมถึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการข่มขู่คุกคามเอาชีวิตแกนนำชาวบ้าน ที่ต่อต้านเหมืองแร่ทองคำแห่งนี้ ที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น

          จนอาจทำให้ “ทองคำ” จากขุมเหมืองแห่งนี้ กลายเป็นทองคำที่เปื้อนมลทิน มากขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องเพราะรอบเหมืองทองเขาหม้อ-เขาเจ็ดลูก นอกจากจะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงเรื่องมลพิษแล้ว ยังกลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชนกันเองด้วย ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ล่าสุด คือ เวทีรับฟังปัญหาด้านสุขภาพประชาชน ที่นักวิชาการจาก หาวิทยาลัยนเรศวร เข้าไปจัดขึ้นที่ศาลาวัดคีรีเทพนิมิต ตงเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ พิจิตร เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2554 ที่มีการระดมชาวบ้าน 3 จังหวัด ทั้งพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กว่า 2 พันคนเข้าร่วม ปรากฏว่า มีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ต่อต้านเหมืองทองแห่งนี้ วอล์กเอาต์ จากเวที

           มิพักต้องพูดถึงการระดมชาวบ้าน-พนักงานเหมืองทองอัคราฯ นับพันคน มาชุมนุมที่หน้าศาลากลางพิจิตร เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2554 ประกาศจุดยืนต่อหน้าผู้ว่าฯพิจิตร สนับสนุนการทำเหมืองทองอย่างเต็มที่ ภายใต้ข้ออ้างการจ้างงานเพิ่มขึ้น - ภาษีบำรุงท้องถิ่น ฯลฯ

        โดยละเลยมลทินเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม-สุขภาพชาวบ้าน ที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้นทุกขณะ !!


****************************************

[IMG]

[IMG]


[IMG]

[IMG]


[IMG]

[IMG]

[IMG]

[IMG]

[IMG]

[IMG]


  • สิ่งที่คนไทยชาวบ้านพื้นที่จะได้รับกันเต็มๆคือสารพิษ
  • คำถามมืใครมีผลประโยชน์ขายแผ่นดิน ?
  • แล้วคนใหญ่คือใครไปออสเตรเลีย?
  • คนไทยคือคนนั้นคือใคร?
  • ไปทำไม?
  • มันสำคัญต่อชาติหรือเพื่ออะไร?
  • ผลประโยชนฺใคร?

[IMG][IMG]

หนานเมือง สล่าง่าวบ้านนอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น